วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Lafcadio สิงโตอยากเป็นคน (Lafcadio THE LION WHO SHOT BACK) - เชล ซิลเวอร์สไตน์

Lafcadio สิงโตอยากเป็นคน (Lafcadio THE LION WHO SHOT BACK) - เชล ซิลเวอร์สไตน์


Story R.ANCHALEE





จำได้ว่ามีเพื่อนคนหนึ่ง ส่งหนังสือ Lafcadio THE LION WHO SHOT BACK หริอชื่อในภาษาไทยว่า "Lafcadio สิงโตอยากเป็นคน" มาให้ทางไปรษณีย์ และคะยั้นคะยอว่า "ต้องอ่านนะเล่มนี้ น่ารักมาก" ครั้งแรกที่ได้มาก็สะดุดกับรูปเล่มก่อน เป็นปกแข็ง สีขาว สวยงาม สะอาดตา เปิดพลิกอ่านหน้าแรกๆ 
ก็คิดเหมาเอาว่า "คงจะเป็นหนังสือนิทานของเด็กๆ" 

ย้อนกลับไปดูหน้าปก Lafcadio สิงโตอยากเป็นคน นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักกับชื่อของนักเขียนนาม  เชล ซิลเวอร์สไตน์ และชื่อผู้แปลก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คุณปราย พันแสง นักแปลมากฝีมือ ที่แปล หนังสือ Lafcadio สิงโตอยากเป็นคนออกมาได้เต็มอรรถรส น่ารักน่าชังเป็นอย่างยิ่ง 

พอลองยิ่งอ่านไป ยิ่งรู้สึกว่า เจ้าสิงโตตัวนี้ไม่ธรรมดา สิงโตอะไรมันซื่อเป็นบ้า! ขณะที่อ่านก็มีรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา เจ้าแลฟคลาดิโอ มันช่วงป่วน กวน ใสซื่อ และขยันสร้างเรื่องเสียจริง [1]แลฟคลาดิโอ เกิดมาเป็นสิงโตก็จริง แต่การใช้ชีวิตแบบสิงโตที่แท้ก็ไม่อาจครอบงำเขาได้ตลอดไป เชล  ซิลเวอร์สไตน์  สร้างสรรค์ชีวิตจิตใจของแลฟคลาดิโอออกมาได้สดใหม่ ใสซื่อ นำเสนอแลฟคลาดิโอให้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตโดยปราศจากเล่ห์เหลี่ยมหรืออคติใดๆ แม้ว่าวิถีชีวิตแบบสิงโตอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาปราถนา ในขณะที่วิถีชีวิตแบบมนุษย์ก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการอย่างจริงแท้ "แลฟคลาดิโอ" จึงเป็น "แลฟคลาดิโอ" ที่ไม่อาจหานิยามหรือคำจำกัดใดมาอธิบายได้หมดจดแท้จริงก็ด้วยเหตุนี้ 
[1]จากคำคนแปล

หนังสือ Lafcadio สิงโตอยากเป็นคน เริ่มต้นเรื่องด้วย คุณลุงคนหนึ่งชื่อว่า เชลบี้ นั่งเล่าเรื่องสิงโตตัวหนึ่งให้เด็กๆ ฟังคุณลุงเชลบี้คนนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น"เพื่อนสนิท" ของแลฟคลาดิโอก็ว่าได้ สนิทแค่ไหนน่ะเหรอ ก็ขนาดมานั่งเล่าเรื่องราวของแลฟคลาดิโอให้เด็กๆ ฟังได้ยังไงล่ะ คุณลุงเชลบี้เล่าว่า "ครั้งแรกที่ลุงเจอสิงโตตัวนี้ที่ชิคาโก ในวันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม ลุงจำได้ติดตาติดใจ เพราะวันนั้นหิมะเริ่มละลาย รถราบนถนนดอร์เชสเตอร์ก็ติดมโหฬาร สิงโตตัวนี้กำลังหาร้านตัดผม...ขณะที่ลุงเองก็เพิ่งกลับจาก...เอ้อ...กำลังเดินทางกลับบ้าน

เปล่าหรอก ลุงคิดว่าลุงควรจะเริ่มด้วยการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้อีกสักหน่อย ลุงคิดว่าลุงควรจะเล่าเรื่องสิงโตตัวนี้ให้หนูๆ ฟังตั้งแต่สมัยสิงโตเขายังหนุ่มแน่นแน่ะ ...ตกลงไหม"

และเรื่องราวก็ดำเนินไป .....


ก็อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ Lafcadio สิงโตอยากเป็นคน เป็นหนังสือที่เหมาะกับการที่ผู้ใหญ่จะอ่านให้เด็กๆ ฟังแต่เหนือจากการอ่าน Lafcadio สิงโตอยากเป็นคน ให้เด็กๆ ฟังแล้ว คุณผู้ใหญ่ก็จะได้รับสารอะไรบางอย่าง สารที่จะซึมซับเอาไว้อย่างไม่รู้ตัว อะไรบางอย่างที่ผู้เขียนเชล ซิลเวอร์สไตน์ ได้สอดแทรกเข้าไว้ในเรื่องที่แสนเรียบง่ายนี้

ไม่มีข้อคิดที่เป็นถ้อยคำสละสลวย แต่เป็นการแฝงความหมายไว้ทุกๆ บรรทัด อ่านแล้วต้องย้อนกลับไปอ่านซ้ำอีกเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่อ่านแล้วมีความสุขมาก ถ้าอยากรู้ว่าเจ้าแลฟคลาดิโอนั่นน่ารัก ป่วน กวน ขนาดไหน และหนังสือ Lafcadio สิงโตอยากเป็นคนจะทำให้คุณยิ้มได้อย่างที่เล่าหรือไม่ก็ต้องหามาอ่านกันดู แต่อยากบอกว่า แนะนำเลยสำหรับ หนังสือ Lafcadio สิงโตอยากเป็นคน เล่มนี้ อยากให้มีติดบ้านไว้ทุกคน

ผลงานเล่มอื่นๆ ของ เชล ซิลเวอร์สไตน์ เป็นหนังสือเด็กและบทกวีที่มีความแปลกและท่วงทำนองเสียดสี ไม่ว่าจะเป็น 

  • The Giving Tree (ค.ศ.1964) 
  • Where The Sidewalk Ends (ค.ศ.1974)
  • The Missing Piece (ค.ศ.1976) 
  • และ A Light in the Attics (ค.ศ.1981)


ใครที่สนใจลองหามาอ่านดูได้ครับทั่น....





ชื่อหนังสือ :   Lafcadio สิงโตอยากเป็นคน (  Lafcadio THE LION WHO SHOT BACK )
ชื่อผู้เขียน  :  เชล ซิลเวอร์สไตน์
ชื่อผู้แปล   :  ปราย พันแสง
สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์มติชน







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น