วันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สดับลมขับขาน Hear The Wind Sing - Haruki Murakami (Review)


สดับลมขับขาน Hear The Wind Sing - Haruki Murakami (Review)




สดับลมขับขาน Hear The Wind Sing ปฐมบทไตรภาคแห่งมุสิก (ลำดับสอง พินบอล,1973  และลำดับสาม ปัจฉิมบท แกะรอย แกะดาว A Wild Sheep Chase) เป็นนิยายอีกเล่มหนึ่งของ ฮารูกิ มูราคามิ ที่รู้สึกว่าเขียนได้ดีเรียบลื่น แม้จะเป็นผลงานเขียนเล่มแรกแต่ฝีไม้ลายมือไม่ด้อยไปกว่าเล่มไหน ข้าพเจ้าเพิ่งจะได้อ่าน สดับลมขับขาน Hear The Wind Sing เล่มนี้ หลังจากได้อ่าน แกะรอย แกะดาว A Wild Sheep Chase จบไปเรียบร้อยแล้ว

เหตุผลแรกที่อ่าน  สดับลมขับขาน Hear The Wind Sing เพียงเพราะว่าข้าพเจ้ากำลัง "ตามล่าหาวลีแบบนพดล" เท่านั้น ในขณะนั้นข้าพเจ้ากับ Haruki Murakami เราเพิ่งจะรู้จักกัน ยังไม่สนิทสนมกันถึงขั้นต้องร้องหา กลับมาถึงคำถามที่ว่า ทำไมจึงต้องตามล่าหาวลีแบบนพดล? ก็ตอบได้ชัดเจนแจ่มแจ๋วว่าอ่านแล้วมัน "มันหู" ดี และ "มันช่างกวนดีแท้"
 
เมื่อได้ลองอ่าน สดับลมขับขาน Hear The Wind Sing เล่มนี้แล้ว ก็ทำให้ข้าพเจ้าได้เสพวลีแบบนพดลเต็มอรรถรส สุดอิ่มใจ ไม่ว่าจะเป็น "ฟังนะ...ข้าจะบอกอะไรให้เอ็งฟังสักอย่าง" คำพูดติดปากของมุสิก หรือจะเป็น "โปรดไขขาน" "คนรวยไปกินขี้เหอะ!" " มี'ไร " แม้ใครอ่านแล้วจะรู้สึกว่า มันไม่เห็น มี' ไร แต่ข้าพเจ้าก็ยังยืนยันว่า มัน มี'ไร

ข้าพเจ้าพูดเอาจากประสบการณ์ตรง หลังจากที่ได้อ่านงานของ Haruki Murakami เล่มที่ไม่ใช่คุณนพดล เวชสวัสดิ์แปลปรากฏว่า "อรรถรสเปลี่ยน" น่าแปลกแต่จริง ผลงานเขียนของคนเขียนคนเดียวกัน แต่ผู้แปลต่างกันกลับ "อรรถรสเปลี่ยน" ตอนแรกไม่รู้สาเหตุ จนต้องรื้อหนังสือของ Haruki Murakami มาดูหลายๆ เล่ม ว่าเพราะเหตุใด ก็ปรากฏว่าเป็นเพราะ "สำนวน" นี่เอง

ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ฮารูกิ มูราคามิ ต้องคู่กับ นพดล เวชสวัสดิ์ เหมือนกับอรัญญา - สมบัติ สองคนนี้ต้องเล่นคู่กันจึงถึงพริกถึงขิง คุณนพดล เวชสวัสดิ์ แปลงานของมูราคามิออกมาได้อย่างที่ข้าพเจ้าคาดเดาว่าใกล้เคียงกับตัวตนของมูราคามิมากที่สุด และสดับลมขับขาน Hear The Wind Sing เล่มนี้ คุณนพดล เวชสวัสดิ์ ก็แปลได้อร่อยเหาะ ข้าพเจ้าได้เจอกับวลีหลายวลีที่โปรดปรานในสดับลมขับขาน อ่านแล้วมันหูซิกๆ บทสนทนาสั้นกระชับ โต้ตอบยอกย้อนกันคำต่อคำ ไม่ยืดเยื้อ ยุ่งยาก อ่านแล้วรู้สึกเหมือนว่าเรากำลังสนทนาโต้ตอบกับเพื่อนซี้ในชีวิตประจำวัน

บทสนทนาของตัวละครนี้เองที่นับว่าเป็นส่วนสำคัญช่วยให้งานของมูราคามิน่าหลงใหล บทสนทนาที่สะท้อนอารมณ์หลากหลาย บางครั้งเศร้า เหงา โดดเดี่ยวอ้างว้าง แต่บางคราวก็มีอารมณ์ขัน 

"....ผมโทรฯ มาขัดจังหวะอะไรหรือเปล่าครับ?" ดีเจสอบถามชายนิรนามหลังจากที่โทรเข้ามาหาเขา
"กำลังอ่านหนังสืออยู่" ชายนิรนามตอบ
"จุ๊...จุ๊...จุ๊...น่าอายเหลือเกิน เอิ้ก ฟังวิทยุสิครับท่าน การอ่านหนังสือตีกรอบกั้นให้คุณโดดเดี่ยว จริงไหม?"
"ก็ถูก"
"หนังสือมีไว้อ่านตอนรอต้มเส้นหมี่ รอน้ำเดือด เข้าใจนะ?"
"ครับ"

ตัวอย่างหนึ่งของบทสทนาที่ปรากฎในเล่ม สดับลมขับขาน Hear The Wind Sing และสะท้อนอารมณ์ขันของ Haruki Murakami ได้เป็นอย่างดี

การสอดแทรกอารมณ์ขันช่วยให้เราไม่หดหู่ซึมเซาจนเกินไปนัก อารมณ์หดหู่ซึมเซาที่มักปรากฏบ่อยครั้งในยามอ่านงานเขียนของเขา จนข้าพเจ้าอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า 
"ไอ้ชายคนนี้มันเป็นโรคซึมเศร้ารึเปล่าวะ?" "อะไรมันจะมีการฆ่าตัวตายเกือบทุกเล่ม!" ไม่ต้องดูอะไรไกล ดูอย่างนักเขียนที่เขาชื่นชอบ ดีเร็ก ฮาร์ตฟีลด์ นั่นปะไร ก็ม่องเท่ง โดดตึกฆ่าตัวตาย ตายไม่ตายธรรมดา มีการกางร่ม กอดรูปฮิตเลอร์ลอยลิ่วลงมาด้วย เอากับเขาสิ

สดับลมขับขาน Hear The Wind Sing เป็นเรื่องเล่าย้อนไปในปีค.ศ.1970 ชั่วระยะเวลา 19 วัน ช่วงปิดเทอมของชายหนุ่มวัย 21 ปี ที่ไม่ได้รับการเอ่ยนาม ระหว่างขลุกอยู่ในบาร์ คบหากับ "มุสิก" สหายหนุ่มลูกเศรษฐีผู้ขยะแขยงคนรวย เนื้อเรื่องกล่าวพาดพิงถึงศาสตร์แห่งการเขียน การลุกฮือขึ้นประท้วงของนักศึกษาญี่ปุ่น และเช่นเดียวกับหนังสือเล่มอื่นๆ ในลำดับต่อมาของฮารูกิ มูราคามิ มีรายละเอียดที่ขาดไม่ได้เกี่ยวกับความสัมพันธ์และการสูญเสียการทำอาหาร การกิน การดื่ม และการฟังเพลงฝรั่ง 
ต้องลองนึกถึงภาพบรรยากาศของหนังอาร์ต ทึมๆ สุดเหงา ใครนึกภาพไม่ออกลองหยิบหนังของ "หว่อง กาไว" มาดูสักเรื่อง ชัดเลย


ชื่อหนังสือ : สดับลมขับขาน Hear The Wind Sing
ชื่อผู้แต่ง    : HARUKI MURAKAMI
ชื่อผู้แปล   : นพดล เวชสวัสดิ์
สำนักพิมพ์ : สำนักพิมพ์กำมะหยี่
พิมพ์ล่าสุด : พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น