วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บางเหตุผล.. ที่ผู้คนครึ่งโลก หลงรัก ฮารูกิ มูราคามิ [ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ] บทความ : ปราย พันแสง (Pry Pansang)

บางเหตุผล.. ที่ผู้คนครึ่งโลก หลงรัก ฮารูกิ มูราคามิ [ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ] บทความ : ปราย พันแสง Pry Pansang


บางเหตุผล.. ที่ผู้คนครึ่งโลก หลงรัก ฮารูกิ มูราคามิ [ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ] 
บทความ : 'ปราย พันแสง 
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน prypansang.blogspot.com ตุลาคม 2007 

...... เมื่อมีโอกาสกลับมาค้นงานเขียนเกี่ยวกับฮารูกิ มูราคามิ เพื่อรวบรวมจัดพิมพ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊ค“ศาสดาเบสท์เซลเลอร์”ล่าสุดนี้ ทำให้ต้องกลับไปอ่านสำรวจตรวจตราเรื่องสั้นของฮารูกิ มูราคามิ หลายเรื่องที่ตัวเองเคยแปลไว้[สำหรับเป็นตัวอย่างประกอบบทความ]อีกครั้งหนึ่ง ............. 

ลองนำต้นฉบับภาษาอังกฤษมาเทียบอีกครั้ง ตัดสินใจแก้ไขบางคำบ้าง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรไปมากกว่านั้น เพราะ “สำเนียง” ของมูราคามิในหัวยังเป็นเสียงเดียวเสียงเดิม ...เหมือนที่ฉันได้ยินเมื่อหลายปีก่อน ............. 

น้องคนหนึ่งเคยบอกว่า เรื่องมูราคามิที่ฉันแปล มันไม่เหมือนสำนวนแปลของคนอื่น ทำให้ฉันรู้สึกประหลาดใจพอสมควร เพราะเวลาฉันอ่านสำนวนแปลของคนอื่น ฉันก็มักจะได้ยิน“สำเนียง”ของมูราคามิเป็นเสียงเดียวกับต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เคยอ่านเช่นกัน .............. 

อาจจะมีสะดุดบ้างในบางครั้ง กับบางเล่ม ที่ทำให้รู้สึกเหมือนนั่งอ่านบนรถไฟเหาะตีลังกา เนื่องจากแต่ละคำ แต่ละประโยคในพารากราฟมัน“ขาด”จากกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้เรื่องที่อ่านมันกระโดกกระเดกมากไปนิด .......... 

คงไม่ใช่เรื่องผิด คนแปลแต่ละคนก็ย่อมมีสิทธิ์ได้ยิน"เสียง"ของผู้เขียนต่างกันไป เพียงแต่อ่านแล้วรู้สึกขัด อยู่บ้าง เนื่องจากว่าในสามัญสำนึกของฉัน มูราคามิเป็นคนเขียนหนังสือ“เนียน”มีความสุขุมลุ่มลึก ประณีต และละเมียดกับอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง เขาคงจะไม่ใช้กริยากระโดกกระเดกกับผู้อ่านในการเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง(อ่าน) อย่างแน่นอนหลายคนที่ฉันรู้จักบอกว่าอ่านงานเขียนของมูราคามิไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ 
................ อันที่จริงการอ่านงานเขียนของมูราคามินั้นไม่ใช่การอ่านเพื่อความเข้าใจแต่มันเป็นการอ่านเพื่อ“ประสบการณ์”มากกว่า ............... 

มันเป็น “ประสบการณ์” คล้ายๆ กับเวลาที่เราเดินเข้าไปในแกลเลอรี่หรือหอศิลป์ งานเขียนของมูราคามิ ไม่ใช่ภาพเขียนงามวิจิตรขนาดใหญ่ที่ติดเอาไว้บนฝาผนัง เพื่อให้ผู้คนตกตะลึงว่า“วาดออกมาได้อย่างไร”แต่มันคล้ายกับเราเดินเข้าไปในห้องหนึ่งของหอศิลป์ ที่มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานประเภทจัดวาง (installation) เอาไว้ให้ชม .... 

ในห้องนั้นอาจจะมีชักโครกใช้แล้วตั้งอยู่กลางห้อง มีกุหลาบสีขาวอยู่ในตู้กระจก มีกระจุกผมสีดำวางอยู่ในจานอาหารราคาแพง มีเสียงดนตรีสารพัดประเภทดังแว่วออกมาจากทุกหนแห่ง มีน้ำทะเลอยู่ในขวดโค้ก ฯลฯ หลังจากนั้น เราก็เดินออกจากห้องนั้นมาด้วยความรู้สึกหลากหลาย อันยากแก่การบอกเล่าให้บุคคลอื่นได้รับรู้ เนื่องจากวิธีเดียวที่จะรับรู้ “ประสบการณ์”นั้นได้ ก็คือการเดินเข้าไปในห้องนั้นด้วยตัวเองการอ่านหนังสือของมูราคามิก็เช่นกันการอ่านหนังสือของมูราคามิ จึงไม่ใช่การเร่งรีบอ่านหน้าแรกเพื่อไปถึงหน้าสุดท้ายให้เร็วที่สุดเท่านั้น แต่คนอ่านต้องมีเวลามากพอที่จะค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ เคี้ยวย่อยไปเรื่อยๆ ทีละหน้า ทีละหน้า ไม่ต้องรีบร้อน ................... 

มันเป็นการอ่านที่ต้องการ"เวลา"มากๆ เหมือนกับการจัดแสดงนิทรรศการ ต้องมี "ที่ว่าง" มากๆ ---มันเป็นอย่างนั้น ............ งานเขียนของมูราคามิ ไม่ได้ปฏิวัติปลี่ยนแปลงเพียงรูปแบบภาษาที่ผู้เขียนใช้เล่าเรื่องราวเท่านั้น แต่มันยังเปลี่ยนแปลงประสบการณ์อ่าน รวมถึงวัฒนธรรมการอ่านในโลกเราไปอย่างสิ้นเชิงด้วย! ............... 

รูปแบบภาษาเฉพาะตัวของมูราคามิ อาจจะไม่ได้หมายถึงการประดิดประดอยคำแปลกๆ ขึ้นมาใช้ อาจจะไม่ได้หมายถึงการเอา กรรม มาไว้หน้า ประธาน ของประโยค หรืออะไรทำนองนั้น สังเกตได้จากผู้เชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นที่ศึกษาผลงานของมูราคามิมากมาย ก็ไม่เห็นมีใครเอ่ยถึงเรื่องทำนองนี้เลยสักคน ................. 

โดยส่วนตัวแล้ว ฉันไม่คิดว่ามูราคามิจะสนใจเรื่องรูปประโยคประเภทประธาน กริยา กรรม ช่องไฟ สระ พยัญชนะ หรืออะไรพวกนี้เลยด้วยซ้ำ .................. หลังจากอายุยี่สิบเก้าปีที่ได้"ค้นพบ"วิธีการเขียนในสไตล์ของตัวเองแล้ว เวลาลงมือเขียนหนังสือ มูราคามิ อาจจะไม่ได้คิดว่ามีตัวหนังสืออยู่ในโลกนี้เลยด้วยซ้ำ ................... 

ถ้าอย่างนั้น สไตล์หรือรูปแบบภาษาพิเศษเฉพาะตัวคืออะไร แบบไหนกัน? ............. ตรงนี้ต้องบอกว่าสไตล์ของเขาพิสดารหลากหลายมาก แม้ว่าจะใช้พล็อตเรื่องหลวมๆ หรือตัวละครซ้ำๆเดิมๆ ก็ตามที เรื่องที่เขียนยังตรึงคนอ่านได้อยู่หมัด แถมยังได้รับความนิยมอ่านแพร่หลายไปทั่วโลก นั่นคงไม่ใช่ธรรมดา .................... 

ยกตัวอย่างเช่น หากมองแต่เพียงผิวเผิน สไตล์การเขียนของมูราคามิที่พบได้ในงานเกือบทุกเล่มนั้น มักเป็นการเขียนด้วย"ภาวะจิต"(consciousness) โดยผ่านตัว"ผม" เป็นคนเล่าเรื่อง คิดเรื่องนั้น รู้สึกเรื่องนี้ ไม่ต่างจากงานเขียนทั่วไป ............. 

แต่ถ้าสังเกตนิดหน่อย อาจจะรู้สึกได้ไม่ยากนัก ว่าภาวะจิตของ"ผม"นั้น มันไม่ได้ถูกกำหนดบทบาทไว้ตามกฏเกณฑ์การเขียนเรื่องทั่วไปเลย ความคิดของ"ผม"ในงานเขียนของมูราคามินั้นเพี้ยนมาก[ในบุคลิคภาพคนญี่ปุ่น]"ผม"มีความคิดอิสระ[ในความใฝ่ฝันแบบคนอเมริกัน]แต่ร่างกายและภูมิหลังติดตรึงอยู่กับแบบแผนบางอย่าง มักรอคอยบางสิ่งเพื่อพลิกเปลี่ยน ............. 

เมื่อสิ่งนั้นมาถึง"ผม"คนเดียวกันนี้ก็จะไม่ยอมอยู่กับร่องรอย ไม่ยอมอยู่กับบรรทัดฐานใดอีกต่อไป บทสุดท้ายชะตากรรมของ"ผม"หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีอะไรมากมายไปกว่าบทเริ่ม แต่แปลกว่าเรื่องราวเพี้ยนๆ บ้าๆ บอๆ ทั้งหมดนี้ กลับสามารถทำให้คนอ่านรู้สึกร่วมได้ชะงัด .............. กว่าทศวรรษที่ผ่านมา กระแสความนิยมในหนังสือของฮารูกิ มูราคามิ ไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย ทั้งยังดูเหมือนว่าจะมีนักอ่านวัยรุ่นหนุ่มสาวยิ่งกระหายใคร่อ่านหนังสือของเขามากขึ้นด้วย ................. 

หลายพื้นที่ในโลก การอ่านหนังสือของมูราคามิ เป็นเครื่องมือสำหรับประกาศถึงอิสรภาพและตัวตน กลายเป็นความทันสมัย กลายเป็นแฟชั่นโก้เก๋ไปแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ [แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ยิ่งผลงานได้รับการเผยแพร่เป็นภาษาต่างๆ กว้างไกลหลายภาษาเพียงใด เรากลับได้เห็นหน้าค่าตาของมูราคามิผ่านสื่อต่างๆ น้อยลงทุกที] ................ 

การที่หนังสือบางเล่มขายดี มันก็คงมีเหตุผลบางอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะอ่านเพื่อเอาสาระ อ่านเพื่อแฟชั่น หรือเพื่ออะไร อย่างน้อยเนื้อหาในหนังสือขายดีเหล่านั้น มันก็น่าจะเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณบางอย่างของคนอ่านได้บ้างไม่มากก็น้อย... ......... 

ฉบับภาษาไทยล่าสุด[เป็นผลงานยุคแรกๆในภาษาญี่ปุ่นของมูราคามิเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว]"ผม"ของมูราคามิบอกคนอ่านอย่างโต้งๆ ล่ะเลยว่า "ความทรงจำส่วนใหญ่ของผมไม่มีวันที่กำกับ" หรือ "ความทรงจำของผมค่อนข้างเลื่อนเปื้อนได้ถึงขั้นน่าประทับใจทีเดียว ผมกลับผิดทิศผิดทางได้เสมอ ถ้านำเอาเกร็ดเรื่องราวมาเป็นความจริง แม้แต่เรื่องราวที่พบเห็นด้วยตาตนเอง ยังนำเอาคำให้การของคนอื่นมาแทนที่" [เรือเชื่องช้าสู่เมืองจีน (Slow Boat to China) นพดล เวชสวัสดิ์,สร้อยสุดา ณ ระนอง แปล (2550),สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน,มติชน] นั่นคงพอจะเป็นตัวอย่างถึง"ภาวะจิต"คนเล่าเรื่อง (storyteller)ของมูราคามิได้บ้าง .... สิ่งที่น่าประหลาดใจมากคือเพี้ยนได้ถึงขนาดนี้ แต่งานเขียนของมูราคามิยังดูดีมีเสน่ห์ มีพลังด้านอารมณ์ความรู้สึกมากพอจะทำให้ผู้อ่านหลงใหลเคลิบเคลิ้มไปกับเรื่องราว ................ หรือบางคราว"อิน"จัด ถึงกับคิดว่าตัวเองเป็นตัวละครตัวนั้นด้วย...นั่นล่ะ ความสามารถของมูราคามิ ............. 

"สิ่งทีผมเรียนรู้มาก็คือ คุณจะต้องฉลาดใน (สไตล์) การเขียนเรื่อง แต่เนื้อหาสาระในงานเขียนของคุณไม่จำเป็นต้องฉลาดอะไรก็ได้" มูราคามิเคยอธิบายวิธีเขียนหนังสือของเขาเอาไว้อย่างนั้น แสบไหมล่ะ! .......... 

ด้วยเหตุนี้ วิธีเขียนหนังสือของมูราคามิจึงน่าศึกษาและน่าสนใจมากเมื่อหลายปีก่อน หลังจากได้อ่านหนังสือของมูราคามิไปหลายเล่ม ฉันจึงเกิดแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้า ค้นหาที่มา และเบื้องหน้าเบื้องหลังในการเขียนหนังสือของเขา จนกระทั่งได้ไปเจอแง่มุมความคิดอะไรต่างๆ มากมาย จนเกิดเป็นเรื่องหลายตอนจบในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ จนกลายเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ค “ศาสดาเบสท์เซลเลอร์” ในวันนี้จนได้ยังจำได้ตอนนั้น มีผู้อ่านบางคนบอกมาอย่างไม่เกรงใจว่า“เมื่อไหร่จะเลิกเขียนเรื่องนี้เสียที” :)

ศาสดาเบสท์เซลเลอร์ HARUKI MURAKAMI, study book ฮารูกิ มูราคามิ โดย ปราย พันแสง

ศาสดาเบสท์เซลเลอร์ HARUKI MURAKAMI, study book ฮารูกิ มูราคามิ โดย ปราย พันแสง
ศาสดาเบสท์เซลเลอร์ HARUKI MURAKAMI, study book ฮารูกิ มูราคามิ โดย ปราย พันแสง 


วันนี้ค้นหาข้อมูลบางอย่าง ก็พลันไปเจอกับข้อมูลของหนังสือ ศาสดาเบสท์เซลเลอร์ HARUKI MURAKAMI, study book ฮารูกิ มูราคามิ โดย ปราย พันแสง เข้าโดยบังเอิญ เกี่ยวกับหนังสือ ศาสดาเบสท์เซลเลอร์ HARUKI MURAKAMI จั่วหัวได้อย่างน่าสนใจ
 
"เขียนอย่างไรให้ขายดีติดเบสท์เซลเลอร์ทั่วโลก ชำแหละคมความคิดและสไตล์การเขียนของ ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนญี่ปุ่นนอกคอก ที่มีผลงานเขียนและงานแปลมากถึง 40 ภาษา กวาดรางวัลมาแล้วมากมาย แถมติดอันดับขายดีหลายล้านเล่มทั่วโลก ว่ากันว่านี่คือนักเขียนรางวัลโนเบลคนต่อไป ............. "

โดยส่วนตัวข้าพเจ้าชื่นชอบความคิด คมเขียนของคุณปราย พันแสง อยู่เป็นทุนเดิม ยิ่งคุณปรายมาเขียนเกี่ยวกับฮารูกิ มูราคามิ ยิ่งเกิดอาการกระสันอยากอ่าน ใครก็พอจะทราบว่าฮารูกิ มูีราคามิ เป็นนักเขียนแนวอาร์ทตัวพ่อ คือ ลอยๆ จับต้องได้ยาก ใครหลุดเข้าประตูไปในมิติของเขาได้นับว่ายอดเยียม ใครที่ได้อ่านงานของเขาแล้วคงมีปฏิกริยาตอบสนองอยู่สองอย่าง คือหนึ่ง อุทานว่า "อะไรของมึงวะ?!" และปิดหนังสือ และเลิกอ่้านไปเลย กับสอง คนที่โดนร่ายมนต์มึนๆ งงๆ ตาลอยๆ เหมือนเสพดมกาว กว่าจะได้สติก็อ่านหนังสือของเขาไปแล้วไม่รู้กี่เล่ม  ลามไปถึงอยากรู้จักตัวตนของเขาด้วย เมื่อนักเขียนที่ชื่นอบมาเขียนถึงนักเขียนลึกลับน่าค้นหา เราจึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่อ่านหนังสือ ศาสดาเบสท์เซลเลอร์ HARUKI MURAKAMI เล่มนี้


คุณปราย พันแสง มองว่าวิธีเขียนหนังสือของมูราคามิน่าศึกษาและน่าสนใจมาก หลังจากที่คุณปรายได้อ่านหนังสือของมูราคามิไปหลายเล่ม จึงเกิดแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้า ค้นหาที่มา และเบื้องหน้าเบื้องหลังในการเขียนหนังสือของเขา จนกระทั่งได้ไปเจอแง่มุมความคิดอะไรต่างๆ มากมาย จนเกิดเป็นเรื่องหลายตอนจบในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ จนกลายเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ค “ศาสดาเบสท์เซลเลอร์” ในที่สุด คุณปรายกล่าวว่า "จนได้ยังจำได้ตอนนั้น มีผู้อ่านบางคนบอกมาอย่างไม่เกรงใจว่า“เมื่อไหร่จะเลิกเขียนเรื่องนี้เสีย ที” :)"

[1]หลายคนบอกว่าอ่านงานเขียนของมูราคามิไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ อันที่จริงการอ่านงานเขียนของมูราคามินั้นไม่ใช่การอ่านเพื่อความเข้าใจแต่มันเป็นการอ่านเพื่อ“ประสบการณ์”มากกว่า งานเขียนของมูราคามิ ไม่ได้ปฏิวัติปลี่ยนแปลงเพียงรูปแบบภาษาที่ผู้เขียนใช้เล่าเรื่องราวเท่านั้น แต่มันยังเปลี่ยนแปลงประสบการณ์อ่าน รวมถึงวัฒนธรรมการอ่านในโลกเราไปอย่างสิ้นเชิงด้วย! ................... 

ฮารูกิ มูราคามิ เริ่มต้นงานเขียนเมื่ออายุได้ยี่สิบเก้าปี ผลจากการเริ่มต้นคราวนี้ คือนิยายเรื่องแรกของเขาที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1979 ที่มีชื่อว่า Hear the Wind Sing “ตอนที่ผมยังเป็นวัยรุ่น ผมเคยคิดว่ามันจะยอดเยี่ยมขนาดไหน ถ้าผมสามารถเขียนนวนิยายเป็นภาษาอังกฤษได้ ผมเคยมีความรู้สึกว่า ผมอาจจะสามารถแสดงความรู้สึกและอารมณ์ต่างๆ ของผมได้ชัดเจน และตรงไปตรงมา มากกว่าการที่เขียนในภาษาญี่ปุ่น แต่ด้วยความที่ผมไม่ค่อยชำนาญในภาษาอังกฤษ มันจึงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งผมเสียเวลากับมันไปนานมาก ก่อนที่ผมจะเริ่มเขียนนวนิยายในภาษาญี่ปุ่น และนี่คือเหตุผลว่าทำไมผมจึงเขียนนวนิยายไม่ได้สักเล่มจนเมื่ออายุยี่สิบเก้า ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่า ผมต้องคิดสร้างภาษาญี่ปุ่นแนวใหม่ให้กับนวนิยายของผมทั้งหมดด้วยตัวผมเอง ผมไม่อยากไปยืมภาษาเดิมๆ ที่มีอยู่แล้วมาใช้เท่านั้นเอง จากเหตุผลนี้ ผมจึงไม่เหมือนคนอื่น” ..................... 

ปัจจุบัน ฮารูกิ มูราคามิ มีผลงานเขียนประเภทเรื่องสั้น,นวนิยาย,สารคดี,บทสัมภาษณ์,และผลงานแปล (มูราคามิมีชื่อเสียงในญี่ปุ่น ในฐานะผู้แปลวรรณกรรมอเมริกันเป็นภาษาญี่ปุ่นจำนวนมาก) มากมายหลายสิบเล่ม ทั้งยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ในโลก มากมายถึง 40 ภาษา ยอดจำหน่ายรวมเป็นล้านๆ หลายล้านเล่ม ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ก็มีการแปลผลงานนวนิยายของเขาออกมาเป็นภาษาไทยครบทุกเล่ม และเริ่มมีการแปลเรื่องสั้นตามออกมาบ้างแล้ว ........................ 

การที่นักเขียนเอเชียตัวเล็กๆ ประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวางในระดับโลกขนาดนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน! .................... 

"การเขียนทำให้ผมดิ่งลึกเข้าสู่จิตใต้สำนึกของตัวผมเอง" –การเขียน 

"ผมไม่อยากเป็นพระเจ้าหรอกครับ ผมไม่ได้เป็นนักเขียนที่รู้ไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ผมเขียนถึงทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้หรอกครับ ผมเขียนได้แต่เรื่องตัวผมเองเท่านั้น" - "ผม" กับพระเจ้า 

"ยิ่งผมเครียดเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งเขียนเรื่องพิลึกกึกกือได้มากขึ้นเท่านั้น" – ความลึกลับ 

"ผมชอบการเดินทาง ถ้าคุณเป็นนักเขียน คุณจะอยู่ที่ไหนก็ได้ ผมกับภรรยาไม่มีลูกด้วยกัน ทำให้เรามีอิสระในการที่จะไปไหนต่อไหนก็ได้ ผมย้ายไปอยู่ในที่ต่างๆ ทุกสองปี" -การเดินทางท่องเที่ยว 

"ผมตื่นตอน 6 โมงเช้า และเข้านอนตอน 4 ทุ่ม วิ่งจ๊อกกิ้งทุกวัน ผมว่ายน้ำ ผมเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ เพราะผมเป็นคนเชื่อในความเป็นจริงและเหตุผล"-เคล็ดลับของนักเขียนอัจฉริยะ 

“ผมไม่ได้ต้องการรถเบนซ์ ไม่อยากได้เสื้อผ้าอาร์มานี่ แต่ “เงิน” สามารถซื้อเวลาให้ผมเอาไว้ทำงานเขียนของผมได้" - ความสำเร็จ 

“การเล่าเรื่องที่ดี มันก็เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นเวลาที่ผมเดินอยู่ตามถนนนั่นแหละครับ ผมรักท้องถนน ผมชอบมองสิ่งต่างๆ รอบตัว บางครั้งได้ยินเสียง บางครั้งได้กลิ่น” -มูราคามิกับถนน [1]

*[1]ที่มาจาก http://freeformbooks.blogspot.com/2008/10/blog-post_1122.html 



ชื่อหนังสือ   :   ศาสดาเบสท์เซลเลอร์ HARUKI MURAKAMI 
ชื่อผู้เขียน    :   ปราย พันแสง
สำนักพิมพ์   :  
ฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์
พิมพ์เมื่อ      :   พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550