วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บางเหตุผล.. ที่ผู้คนครึ่งโลก หลงรัก ฮารูกิ มูราคามิ [ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ] บทความ : ปราย พันแสง (Pry Pansang)

บางเหตุผล.. ที่ผู้คนครึ่งโลก หลงรัก ฮารูกิ มูราคามิ [ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ] บทความ : ปราย พันแสง Pry Pansang


บางเหตุผล.. ที่ผู้คนครึ่งโลก หลงรัก ฮารูกิ มูราคามิ [ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ] 
บทความ : 'ปราย พันแสง 
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน prypansang.blogspot.com ตุลาคม 2007 

...... เมื่อมีโอกาสกลับมาค้นงานเขียนเกี่ยวกับฮารูกิ มูราคามิ เพื่อรวบรวมจัดพิมพ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊ค“ศาสดาเบสท์เซลเลอร์”ล่าสุดนี้ ทำให้ต้องกลับไปอ่านสำรวจตรวจตราเรื่องสั้นของฮารูกิ มูราคามิ หลายเรื่องที่ตัวเองเคยแปลไว้[สำหรับเป็นตัวอย่างประกอบบทความ]อีกครั้งหนึ่ง ............. 

ลองนำต้นฉบับภาษาอังกฤษมาเทียบอีกครั้ง ตัดสินใจแก้ไขบางคำบ้าง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรไปมากกว่านั้น เพราะ “สำเนียง” ของมูราคามิในหัวยังเป็นเสียงเดียวเสียงเดิม ...เหมือนที่ฉันได้ยินเมื่อหลายปีก่อน ............. 

น้องคนหนึ่งเคยบอกว่า เรื่องมูราคามิที่ฉันแปล มันไม่เหมือนสำนวนแปลของคนอื่น ทำให้ฉันรู้สึกประหลาดใจพอสมควร เพราะเวลาฉันอ่านสำนวนแปลของคนอื่น ฉันก็มักจะได้ยิน“สำเนียง”ของมูราคามิเป็นเสียงเดียวกับต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เคยอ่านเช่นกัน .............. 

อาจจะมีสะดุดบ้างในบางครั้ง กับบางเล่ม ที่ทำให้รู้สึกเหมือนนั่งอ่านบนรถไฟเหาะตีลังกา เนื่องจากแต่ละคำ แต่ละประโยคในพารากราฟมัน“ขาด”จากกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้เรื่องที่อ่านมันกระโดกกระเดกมากไปนิด .......... 

คงไม่ใช่เรื่องผิด คนแปลแต่ละคนก็ย่อมมีสิทธิ์ได้ยิน"เสียง"ของผู้เขียนต่างกันไป เพียงแต่อ่านแล้วรู้สึกขัด อยู่บ้าง เนื่องจากว่าในสามัญสำนึกของฉัน มูราคามิเป็นคนเขียนหนังสือ“เนียน”มีความสุขุมลุ่มลึก ประณีต และละเมียดกับอารมณ์เป็นอย่างยิ่ง เขาคงจะไม่ใช้กริยากระโดกกระเดกกับผู้อ่านในการเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง(อ่าน) อย่างแน่นอนหลายคนที่ฉันรู้จักบอกว่าอ่านงานเขียนของมูราคามิไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ 
................ อันที่จริงการอ่านงานเขียนของมูราคามินั้นไม่ใช่การอ่านเพื่อความเข้าใจแต่มันเป็นการอ่านเพื่อ“ประสบการณ์”มากกว่า ............... 

มันเป็น “ประสบการณ์” คล้ายๆ กับเวลาที่เราเดินเข้าไปในแกลเลอรี่หรือหอศิลป์ งานเขียนของมูราคามิ ไม่ใช่ภาพเขียนงามวิจิตรขนาดใหญ่ที่ติดเอาไว้บนฝาผนัง เพื่อให้ผู้คนตกตะลึงว่า“วาดออกมาได้อย่างไร”แต่มันคล้ายกับเราเดินเข้าไปในห้องหนึ่งของหอศิลป์ ที่มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานประเภทจัดวาง (installation) เอาไว้ให้ชม .... 

ในห้องนั้นอาจจะมีชักโครกใช้แล้วตั้งอยู่กลางห้อง มีกุหลาบสีขาวอยู่ในตู้กระจก มีกระจุกผมสีดำวางอยู่ในจานอาหารราคาแพง มีเสียงดนตรีสารพัดประเภทดังแว่วออกมาจากทุกหนแห่ง มีน้ำทะเลอยู่ในขวดโค้ก ฯลฯ หลังจากนั้น เราก็เดินออกจากห้องนั้นมาด้วยความรู้สึกหลากหลาย อันยากแก่การบอกเล่าให้บุคคลอื่นได้รับรู้ เนื่องจากวิธีเดียวที่จะรับรู้ “ประสบการณ์”นั้นได้ ก็คือการเดินเข้าไปในห้องนั้นด้วยตัวเองการอ่านหนังสือของมูราคามิก็เช่นกันการอ่านหนังสือของมูราคามิ จึงไม่ใช่การเร่งรีบอ่านหน้าแรกเพื่อไปถึงหน้าสุดท้ายให้เร็วที่สุดเท่านั้น แต่คนอ่านต้องมีเวลามากพอที่จะค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ เคี้ยวย่อยไปเรื่อยๆ ทีละหน้า ทีละหน้า ไม่ต้องรีบร้อน ................... 

มันเป็นการอ่านที่ต้องการ"เวลา"มากๆ เหมือนกับการจัดแสดงนิทรรศการ ต้องมี "ที่ว่าง" มากๆ ---มันเป็นอย่างนั้น ............ งานเขียนของมูราคามิ ไม่ได้ปฏิวัติปลี่ยนแปลงเพียงรูปแบบภาษาที่ผู้เขียนใช้เล่าเรื่องราวเท่านั้น แต่มันยังเปลี่ยนแปลงประสบการณ์อ่าน รวมถึงวัฒนธรรมการอ่านในโลกเราไปอย่างสิ้นเชิงด้วย! ............... 

รูปแบบภาษาเฉพาะตัวของมูราคามิ อาจจะไม่ได้หมายถึงการประดิดประดอยคำแปลกๆ ขึ้นมาใช้ อาจจะไม่ได้หมายถึงการเอา กรรม มาไว้หน้า ประธาน ของประโยค หรืออะไรทำนองนั้น สังเกตได้จากผู้เชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นที่ศึกษาผลงานของมูราคามิมากมาย ก็ไม่เห็นมีใครเอ่ยถึงเรื่องทำนองนี้เลยสักคน ................. 

โดยส่วนตัวแล้ว ฉันไม่คิดว่ามูราคามิจะสนใจเรื่องรูปประโยคประเภทประธาน กริยา กรรม ช่องไฟ สระ พยัญชนะ หรืออะไรพวกนี้เลยด้วยซ้ำ .................. หลังจากอายุยี่สิบเก้าปีที่ได้"ค้นพบ"วิธีการเขียนในสไตล์ของตัวเองแล้ว เวลาลงมือเขียนหนังสือ มูราคามิ อาจจะไม่ได้คิดว่ามีตัวหนังสืออยู่ในโลกนี้เลยด้วยซ้ำ ................... 

ถ้าอย่างนั้น สไตล์หรือรูปแบบภาษาพิเศษเฉพาะตัวคืออะไร แบบไหนกัน? ............. ตรงนี้ต้องบอกว่าสไตล์ของเขาพิสดารหลากหลายมาก แม้ว่าจะใช้พล็อตเรื่องหลวมๆ หรือตัวละครซ้ำๆเดิมๆ ก็ตามที เรื่องที่เขียนยังตรึงคนอ่านได้อยู่หมัด แถมยังได้รับความนิยมอ่านแพร่หลายไปทั่วโลก นั่นคงไม่ใช่ธรรมดา .................... 

ยกตัวอย่างเช่น หากมองแต่เพียงผิวเผิน สไตล์การเขียนของมูราคามิที่พบได้ในงานเกือบทุกเล่มนั้น มักเป็นการเขียนด้วย"ภาวะจิต"(consciousness) โดยผ่านตัว"ผม" เป็นคนเล่าเรื่อง คิดเรื่องนั้น รู้สึกเรื่องนี้ ไม่ต่างจากงานเขียนทั่วไป ............. 

แต่ถ้าสังเกตนิดหน่อย อาจจะรู้สึกได้ไม่ยากนัก ว่าภาวะจิตของ"ผม"นั้น มันไม่ได้ถูกกำหนดบทบาทไว้ตามกฏเกณฑ์การเขียนเรื่องทั่วไปเลย ความคิดของ"ผม"ในงานเขียนของมูราคามินั้นเพี้ยนมาก[ในบุคลิคภาพคนญี่ปุ่น]"ผม"มีความคิดอิสระ[ในความใฝ่ฝันแบบคนอเมริกัน]แต่ร่างกายและภูมิหลังติดตรึงอยู่กับแบบแผนบางอย่าง มักรอคอยบางสิ่งเพื่อพลิกเปลี่ยน ............. 

เมื่อสิ่งนั้นมาถึง"ผม"คนเดียวกันนี้ก็จะไม่ยอมอยู่กับร่องรอย ไม่ยอมอยู่กับบรรทัดฐานใดอีกต่อไป บทสุดท้ายชะตากรรมของ"ผม"หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีอะไรมากมายไปกว่าบทเริ่ม แต่แปลกว่าเรื่องราวเพี้ยนๆ บ้าๆ บอๆ ทั้งหมดนี้ กลับสามารถทำให้คนอ่านรู้สึกร่วมได้ชะงัด .............. กว่าทศวรรษที่ผ่านมา กระแสความนิยมในหนังสือของฮารูกิ มูราคามิ ไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย ทั้งยังดูเหมือนว่าจะมีนักอ่านวัยรุ่นหนุ่มสาวยิ่งกระหายใคร่อ่านหนังสือของเขามากขึ้นด้วย ................. 

หลายพื้นที่ในโลก การอ่านหนังสือของมูราคามิ เป็นเครื่องมือสำหรับประกาศถึงอิสรภาพและตัวตน กลายเป็นความทันสมัย กลายเป็นแฟชั่นโก้เก๋ไปแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ [แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ยิ่งผลงานได้รับการเผยแพร่เป็นภาษาต่างๆ กว้างไกลหลายภาษาเพียงใด เรากลับได้เห็นหน้าค่าตาของมูราคามิผ่านสื่อต่างๆ น้อยลงทุกที] ................ 

การที่หนังสือบางเล่มขายดี มันก็คงมีเหตุผลบางอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะอ่านเพื่อเอาสาระ อ่านเพื่อแฟชั่น หรือเพื่ออะไร อย่างน้อยเนื้อหาในหนังสือขายดีเหล่านั้น มันก็น่าจะเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณบางอย่างของคนอ่านได้บ้างไม่มากก็น้อย... ......... 

ฉบับภาษาไทยล่าสุด[เป็นผลงานยุคแรกๆในภาษาญี่ปุ่นของมูราคามิเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว]"ผม"ของมูราคามิบอกคนอ่านอย่างโต้งๆ ล่ะเลยว่า "ความทรงจำส่วนใหญ่ของผมไม่มีวันที่กำกับ" หรือ "ความทรงจำของผมค่อนข้างเลื่อนเปื้อนได้ถึงขั้นน่าประทับใจทีเดียว ผมกลับผิดทิศผิดทางได้เสมอ ถ้านำเอาเกร็ดเรื่องราวมาเป็นความจริง แม้แต่เรื่องราวที่พบเห็นด้วยตาตนเอง ยังนำเอาคำให้การของคนอื่นมาแทนที่" [เรือเชื่องช้าสู่เมืองจีน (Slow Boat to China) นพดล เวชสวัสดิ์,สร้อยสุดา ณ ระนอง แปล (2550),สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน,มติชน] นั่นคงพอจะเป็นตัวอย่างถึง"ภาวะจิต"คนเล่าเรื่อง (storyteller)ของมูราคามิได้บ้าง .... สิ่งที่น่าประหลาดใจมากคือเพี้ยนได้ถึงขนาดนี้ แต่งานเขียนของมูราคามิยังดูดีมีเสน่ห์ มีพลังด้านอารมณ์ความรู้สึกมากพอจะทำให้ผู้อ่านหลงใหลเคลิบเคลิ้มไปกับเรื่องราว ................ หรือบางคราว"อิน"จัด ถึงกับคิดว่าตัวเองเป็นตัวละครตัวนั้นด้วย...นั่นล่ะ ความสามารถของมูราคามิ ............. 

"สิ่งทีผมเรียนรู้มาก็คือ คุณจะต้องฉลาดใน (สไตล์) การเขียนเรื่อง แต่เนื้อหาสาระในงานเขียนของคุณไม่จำเป็นต้องฉลาดอะไรก็ได้" มูราคามิเคยอธิบายวิธีเขียนหนังสือของเขาเอาไว้อย่างนั้น แสบไหมล่ะ! .......... 

ด้วยเหตุนี้ วิธีเขียนหนังสือของมูราคามิจึงน่าศึกษาและน่าสนใจมากเมื่อหลายปีก่อน หลังจากได้อ่านหนังสือของมูราคามิไปหลายเล่ม ฉันจึงเกิดแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้า ค้นหาที่มา และเบื้องหน้าเบื้องหลังในการเขียนหนังสือของเขา จนกระทั่งได้ไปเจอแง่มุมความคิดอะไรต่างๆ มากมาย จนเกิดเป็นเรื่องหลายตอนจบในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ จนกลายเป็นพ็อคเก็ตบุ๊ค “ศาสดาเบสท์เซลเลอร์” ในวันนี้จนได้ยังจำได้ตอนนั้น มีผู้อ่านบางคนบอกมาอย่างไม่เกรงใจว่า“เมื่อไหร่จะเลิกเขียนเรื่องนี้เสียที” :)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น