วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วิธีใช้ลิ้นสองนิ้ว อย่างแยบยล เขียนโดย เห่ง เจี่ย / อธิคม สวัสดิญาณ เรียบเรียง



วิธีใช้ลิ้นสองนิ้ว อย่างแยบยล สำนักพิมพ์เต๋าประยุกต์ เขียนโดย เห่ง เจี่ย / อธิคม สวัสดิญาณ เรียบเรียง  
Story : R.ANCHALEE 



มีคนเคยกล่าวไว้ว่า "ลิ้น" อาจเป็นอวัยะที่ชั่วร้ายที่สุดในร่างกายของคนเรา ก็เห็นจะเป็นจริงเชนนั้น ยกตัวอย่างจากพระคริสตธรรมคัมภีร์ ของท่านยากอบได้กล่าวถึงเรื่อง "ลิ้น" สอนใจไว้อยู่หลายข้อในบทที่ 3

 
2 เพราะเราทุกคนทำผิดพลาดกันไปหลายๆอย่าง ถ้าผู้ใดมิได้ทำผิดทางวาจา ผู้นั้นก็เป็นคนดีรอบคอบแล้ว และสามารถบังคับทั้งตัวไว้ได้ด้วย
 
5 เช่นนั้นแหละลิ้นก็เป็นอวัยวะเล็กๆด้วย และพูดโอ้อวดอ้างการใหญ่ จงดูเถิด ไฟนิดเดียวอาจเผาไหม้มากเท่าใด
 
6 และลิ้นนั้นก็เป็นไฟ เป็นโลกแห่งการชั่วช้าซึ่งตั้งอยู่ในบรรดาอวัยวะของเรา เป็นเหตุให้ทั้งกายเป็นมลทินไป ทำให้วิถีแห่งธรรมชาติเผาไหม้ และมันเองก็ติดไฟจากนรก

"ลิ้น" แม้จะเป็นอวัยวะเล็กๆ ส่วนหนึ่งในร่างกาย แต่อาจล้างทำลายชีวิตของคนเราได้ไม่ยากเย็นนัก หากเราใช้ลิ้นอย่างไม่เหมาะสม ไม่ถูกคน ไม่ถูกกาละเทศะ เช่น ในการบริภาษ วิพากษ์วิจารย์ผู้อื่นเสียๆ หายๆ การเสียดเย้ย การพูดสะกิดแผลใจผู้อื่น การนินทาให้ร้าย การพูดจาเพ้อเจ้ออันหาสาระมิได้ และอีกสารพัดครับ การพูดโดยปราศจากการไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อพูดไปแล้วส่วนใหญ่ผู้พูดมักมานั่งนึกเสียใจในภายหลัง นั่นเพราะขาดการยับยั้งชั่งใจนั่นเอง ตอร์เกเนฟ (Ivan Sergeevich Turgenev) นักวรรณคดีนามอุโฆษชาวฝรั่งเศส เคยกล่าวว่า "ก่อนพูด ควรวนปลายลิ้นสักสิบรอบในช่องปาก" เป็นคติเตือนใจว่า ก่อนพูดอะไรควรที่จะคิดให้รอบคอบก่อนนั่นเองครับท่าน 

มาฟากข้างพี่ไทยเรา ก็มีคำประโยคที่คุ้นหูเกี่ยวกับด้วยเรื่องลิ้นอยู่มากมาย อาทิ "พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย" หรือ "ปลาหมอตายเพราะปาก"  ตัวอย่างเรื่องเล่ามากมายของคนที่ใช้ลิ้นโดยปราศจากสติปัญญา ซึ่งนำผลร้ายมาสู่ตัว 

เรื่องมีว่า ในสมัยโบราณกาลโน้น มีบัณฑิตหนุ่มผู้หนึ่ง นามว่า "ซิ่วไจ๋" มีนิสัยถือดีอวดตน หยิ่งทะนงในความรู้ความสามารถของตนเป็นหนักหนา วันหนึ่งเขาคิดลองดีหมายทำให้ฌานาจารย์ขายหน้า [1]"หลวงพ่อ พุทธองค์ทรงเมตตา ไม่เคยปฏิเสธคำวิงวอนของเหล่าสรรพสัตว์เสมอมา นี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่?" ฌานาจารย์ตอบทันควัน "ใช่แล้ว" ซิ่วไจ๋จึงถามต่อด้วยสีหน้าเจ้าเล่ห์ว่า "ถ้าอย่างนั้น หากข้าต้องการไม้เท้าในมือหลวงพ่อ หลวงพ่อคงไม่ถึงกับตระหนี่จนปฏิเสธการร้องขอของข้ากระมัง?" "อาตมาจะให้โยมได้อย่างไร? วิญญูชนไม่แย่งชิงของของหวงของผู้อื่น โยมอ่านตำรามามายเช่นนี้ เหตุผลธรรมดาเช่นนี้ โยมยังไม่เข้าใจอีกหรือ?" ซิ่วไจ๋รู้ตัวว่าขาดเหตุผล แต่นังดันทุรังตอบว่า "ข้าไม่ใข่วิญญูชน" ฌานาจารย์จึงตอบว่า "ข้าก็ไม่ใช่พระพุทธองค์" ซิ่วไจ๋โกรธมากไม่ยอมเลิกรา เมื่อฌานาจารย์เดินผ่านมาเขาทำทีไม่สนใจใยดี ฌานาจารย์จึงสั่งสอนว่า "คนหนุ่มเห็นผู้อาวุโสเดินมา ไฉนจึงไม่ลุกขึ้นยืน?" นี่คอมารยาทนะโยม!" ซิ่วไจ๋หลวมตัวว่าเข้าถึงธรรมแบบฌาณจึงตอบว่า "ข้านั่งทำความเคารพเท่ากับลุขึ้นยืนทำความเคารพแล้ว" ฌานาจารย์ไม่โต้ตอบ ทว่าฉับพลัน ยื่นมือมาตบซิ่วไจ๋ดังฉาด ซิ่วไจ๋ตกใจมากร้องถามว่า "ตบข้าทำไม ถือดีอย่างไร!" ฌานาจารย์พนมมือตอบเนิบนาบว่า "ในเมื่อโยมนั่งอยู่เท่ากับลุกขึ้นยืน อาตมาตบหน้าโยมก็เท่ากับไม่ได้ตบหน้าโยม" ([1]จากตอนหนึ่งในหนังสือ วิธีใช้ลิ้นสองนิ้ว อย่างแยบยล) เป็นไงล่ะท่านนายบัณฑิตซิ่วไจ๋ถึงกับหน้าชากริบ ได้บทเรียนมาครั้งใหญ่ (เอ..หรือว่าจะยังไม่เข็ด) 

นี่เปนเพียงตัวอย่างหนึ่งของการใช้ลิ้นโอ่อวด แต่ความเป็นจริงแล้วข้างในกลวงเปล่า ดั่งกบในกะลา  ขงจื๊อเคยกล่าวว่า " คนชอบเล่นลิ้น พูดจาลื่นหู ประจบเอาใจ น้อยนักคือผู้เมตตา" 

บนจามิน แฟลงคลิน ยังเคยกล่าวว่า "การโต้แย้งคือเกมที่คนสองคนเล่นกัน มันเป็นเกมที่ประหลาด ไม่เคยมีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะ" 

ฉะนั้นเราจึงไม่ควรเป็นวีรชนด้วยน้ำลาย บางคนทำงานไม่เป็น วันๆ ถนัดแต่เล่นลิ้น บิดเบือนความจริง หมายใช้ลิ้นเพื่อล่อหลอกหาผลประโยชน์ส่วนตัว (คุ้นๆ กับอาชีพหนึ่งของบ้านเราแฮะ) คนพวกนี้ชีวิตมักล้มเหลว เพราะขาดความจริงใจ 

จริงอยู่แม้ว่า "ลิ้น" จะเป็นอวัยวะที่ควบคุมได้ยากที่สุด หากแต่ใช้ลิ้นด้วยสติปัญญา รู้จักพลิกแพลงตามโอกาสและสถานการณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ลิ้นนั้นก็สามารถก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อคนเราได้เช่นกัน ยังมีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง ที่เป็นตัวอย่างของการรู้จักใช้ลิ้นสร้างโอกาสและสถานการณ์ ให้เปนประโยชน์แก่ตนเอง 

เรื่องมีอยู่ว่า "ในสมัยจักรพรรดิ์เฉียนหลง แห่งราชวงศ์ชิง มีนักประพันธ์อัจฉริยะผู้หนึ่ง นามว่า "จี้เสี่ยวหลัน" วันหนึ่งเขาถกเถียงกับหลิวหลัวกวอ ขุนนางผู้ใหญ่ [2]จี้เสี่ยวหลันถามว่า "หัวผักกาด เป็นพืชที่ชานตุงของท่านใหญ่แค่ไหน?" หลิวหลัวกวอทำมือให้ดู ชานตุงขึ้นชื่อเรื่องหังวผักกาด เป็นพืชผลที่มีชื่อที่สุดของชานตุง จี้เสี่ยวหลันก็ว่า หัวผักกาดข้าที่จื้อลี่ใหญ่กว่า ทั้งคู่เถียงไปเถียงมาต่อหน้าพระพักตร์เฉียนหลง พระองค์นึกสนุกจึงตรัวให้แต่ละคนนำหัวผักกาดมาให้ขุนนางในท้องพระโรงดู ทุกคนตะลึงในความใหญ่ของหัวผักกาดของหลิวหลัวกวอ ส่วนจี้เสี่ยวหลันนั้นเล่ากลับล้วงมือเข้าไปในแขนเสื้อหยิบหัวผักกาดเท่าหัวแม่มือออกมา ฝ่าบาทโกรธหน้าดำหน้าแดงหาว่าจี้เสี่ยวหลันคิดเล่นตลก จี้เสี่ยวหลันรีบกราบทูลว่า "มณฑลจื้อลี่ดินจืด และแห้งแล้งอย่างหนัก ผลิตผลทางการเกษตรตายเกือบหมด ราษฎรส่งส่วยภาษีได้ไม่มากนัก ขอทรงโปรดสืบดูให้แน่ชัด" หลิวหลัวกวอถึงรู้ว่าโดนเล่นงานเข้าให้แล้ว([2]จากตอนหนึ่งในหนังสือ วิธีใช้ลิ้นสองนิ้ว อย่างแยบยล) ลำพังถ้าจี้เสี่ยวหลันกราบทูลว่ามณฑลตนแห้งแล้งอาจไม่ได้รับความสนใจนัก ทว่าเมื่อเพิ่ม "อุปกรณ์" บางอย่าง ผ่านการนำเสนอ สร้างภาพราวกับแสดง ก็ช่วยให้ คนทั้งหลายรับทราบด้วยความรู้สึกประทับใจมากยิ่งขึ้น นี่คือข้อดีอขงการ "สร้างภาพ" หรือศิลปะในการ "หีบห่อ" นั่นเอง! จี้เสี่ยวหลันรู้จักพลิกแพลงสร้างภาพด้วยใช้ลิ้นสร้างสถานการณ์ที่เป็นประโยชน์ 

การใช้สติปัญญาไตร่ตรองว่าควรใช้ลิ้นในสถานการณ์ใดเป็นกลยุทธ์ที่เรียนรู้ได้จากประสบการณ์ทั้งจากตัวเองและผู้อื่น เราจึง จะเป็นคนที่น่านับถือยกย่อง  

บราวส์กล่าวว่า "คนพูดเก่งอย่างแท้จริง ไม่ต้องจดจำคำพูดของคนอื่นมาพูด แต่จะพูดเรื่องที่ทำให้คนอื่นจดจำตลอดไป" 

หนังสือ วิธีใช้ลิ้นสองนิ้ว อย่างแยบยล สำนักพิมพ์เต๋าประยุกต์ เขียนโดย เห่ง เจี่ย อธิคม สวัสดิญาณ เรียบเรียง เป็นหนังสือกลยุทธ์อีกเล่ม ในการพัฒนาวาทะศิลป์ของเราให้แยบคายยิ่งขึ้น ในเล่มเราได้จะได้เรียนรู้วิธีการใช้ลิ้น กลั่นความคิด ลับฝีปาก "ชนะศึกด้วยลิ้นสองนิ้ว" ปัญหาจำนวนมากไม่จำเป็นต้องแก้ด้วย "กำปั้น" ถ้ารู้จักตั้งสติยั้งคิด คำนึงถึงส่วนรวม และ "ปากพ่นดอกบัวได้" 

 หนังสือ วิธีใช้ลิ้นสองนิ้ว อย่างแยบยล ได้สอนกลยุทธ์ในการใช้ลิ้นแก้ปัญหาต่างๆ อย่างแยบยล ผ่านเรื่องเล่าต่างวาระและโอกาสต่างๆ กัน ทำให้อ่านสนุกในระดับหนึ่ง แต่ใช่ว่าเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลงคุณจะกลายเป็นคนที่มีวาทะศิลป์เป็นเลิศ เพราะการใช้ลิ้นต้อง อาศัยการฝึกฝนผ่านกระบวการคิดอย่างรอบคอบ 

อย่างไรก็ดีการใช้ลิ้นในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่อาจให้ภาพลักษณ์ในแง่ลบมากกว่าด้านดี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ลิ้นเล่นแง่เหลี่ยม การแสดงถึงความใจแคบ คิดเล็กคิดน้อย ขาดคุณธรรมด้านลิ้น ฯลฯ แต่ทว่าทุกสิ่งอย่างย่อมมีสองด้าน ด้านที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ กับด้านที่ก่อให้เกิดโทษ ก็อยู่ที่ว่าเรามีความสามารถเลือกเค้นสติปัญญานำออกมาใช้อย่างไร 

"แต่เหนือสิ่งอื่นใดไม่ว่าท่านจะเป็นคนที่วาทะศิลป์เป็นเลิศเพียงใด แต่หากใจไร้ซึ่งคุณธรรมแล้วล่ะก็ วาจาของท่านก็มิอาจ พูดสิ่งดีสิ่งใดออกมาได้เลย เพราะคำพูดที่ออกจากปากของเรานั้นล้วนออกมาจากส่วนลึกภายในจิตใจ ฉะนั้นเพียงท่าน คิดดีทำดี ข้าพเจ้าเชื่อว่าลิ้นของท่านย่อมต้องเป็นลิ้นที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมจริงอย่างแน่นอน"


ชื่อหนังสือ   :   วิธีใช้ลิ้นสองนิ้ว อย่างแยบยล
ชื่อผู้เขียน    :   เห่ง เจี่ย
ชื่อผู้เรียบเรียง : อธิคม สวัสดิญาณ
สำนักพิมพ์   :  สำนักพิมพ์เต๋าประยุกต์
พิมพ์เมื่อ      : พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น